top of page

จิตใต้สำนึกมนุษย์ เอาตัวรอดอย่างไร

  • Writer: 🌻
    🌻
  • May 30, 2023
  • 1 min read

Updated: Jun 8, 2023

กลไกการป้องกันตัวเอง (defense mechanisms) เป็นกลไกทางจิตวิทยาที่เสนอโดย Sigmund Freud (1894, 1896) แต่ต่อยอดโดยลูกสาว Anna Freud (1936) กลไกเหล่านี้อยู่ในจิตใต้สำนึก (ไม่รู้ตัว) ที่มนุษย์ใช้เพื่อปกป้องตัวเองจากความเครียด ความวิตกกังวล หรือความรู้สึกผิด ที่มาจากความคิดหรือความรู้สึกที่ไม่เป็นที่ยอมรับบนจิตสำนึก ซึ่งเป็นกลไกที่มักจะบิดเบือนความจริงหรือปัญหาที่เกิดขึ้น


กลไกเหล่านี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่หากเราไม่รู้ตัวและใช้มันบ่อยจนเกินไป ก็อาจจะส่งผลเสียต่อนิสัย (character) ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หรือทำร้ายคนรอบตัวได้ เช่น การเก็บกด (repression) ความเจ็บปวดที่เราได้รับในวัยเด็ก ทำให้เราลืมและไม่รู้สึกเจ็บปวดกับมันในปัจจุบัน แต่พฤติกรรมที่เราแสดงออกมาจากประสบการณ์เหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว เช่น ใช้ความรุนแรงหรือทำร้ายจิตใจคนรัก


การที่เราใช้กลไกเหล่านี้ในการป้องกันตัวไม่ผิด แต่ควรฝึกที่จะรู้ทัน (aware) กลไกที่เราใช้ ที่มาที่ไปของมัน และทำความเข้าใจเรื่องราวเหล่านั้น เพื่อที่เราจะ heal จากมันมากกว่าหลีกหนีหรือบิดเบือนความจริง นอกจากนี้ การเข้าใจกลไกเหล่านี้ จะช่วยให้เรารู้ทันสิ่งที่คนใกล้ตัวเราคิดหรือรู้สึกอีกด้วย มันทำให้เราเห็นถึงวุฒิภาวะทางอารมณ์ (emotional maturity) ของเขาจากความถี่และความเข้มข้นจากการใช้ defense mechanisms เหล่านี้


1. การเก็บกด (repression) เป็นกลไกที่ผลักความทรงจำหรือประสบการณ์ที่เลวร้ายบางอย่างให้อยู่ในระดับจิตใต้สำนึก เพื่อไม่ให้เราเจ็บปวดกับมันอีก แต่มันยังคงมีผลกับชีวิตโดยที่เราไม่รู้ตัว เช่น

-เด็กที่เคยโดนพ่อแม่ทำร้าย และจำเรื่องเหล่านั้นไม่ได้ แต่โตมามีปัญหากับการสร้างความสัมพันธ์อยู่เสมอ

-เด็กที่เคยโดนแมงมุมกัดลืมเหตุการณ์ตอนโดนกัดไปแล้ว และโตขึ้นมามีอาการกลัวแมงมุมมากๆ (phobia)

-เด็กที่โดนเลี้ยงมาด้วยความรุนแรงและแสดงความรุนแรงกับคนอื่นในรูปแบบต่างๆตอนโต


2. การปฏิเสธ (denial) เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่เรารู้สึกว่าเป็นภัย เราจะปิดการรับรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น และเมื่อเรารู้สึกว่าเราไม่สามารถจัดการได้ เราก็จะปฏิเสธที่จะเผชิญหน้า เช่น

-คนที่สูบบุหรี่ปฏิเสธที่จะรับรู้ข้อมูลหรือยอมรับว่าบุหรี่มีผลเสียต่อสุขภาพอย่างไรเพราะถ้ายอมรับ เขาก็ต้องเลิกบุหรี่ ซึ่งมันเป็นงานยากเกินกว่าที่เขาจะรับมือไหว เขาเลยเลือกที่จะปฏิเสธความจริงเพื่อสร้างเหตุผลที่ทำให้เขายังคงทำสิ่งนั้นต่อไปได้

-เราทำร้ายความรู้สึกคนอื่น และปฏิเสธที่จะยอมรับว่าตัวเองทำร้ายเขาด้วยการหาเหตุผลว่า เพราะเขาพูดอย่างนี้ เราเลยต้องทำแบบนี้ อาจจะเรียกง่ายๆว่า หาเรื่องแก้ตัว


3. การซัดทอดความคิด (projection) คือการโยนความคิด ความรู้สึก ความต้องการที่ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมให้กับคนอื่นแทนเพื่อปกป้องตัวตนให้ตัวเองยังเป็นที่ยอมรับอยู่ เช่น

-เราเกลียดคนๆหนึ่ง แต่ความคิดในจิตสำนึกบอกเราว่า เราไม่ควรเกลียดเขา เราเลยสร้างกลไกเพื่อหาเหตุผลที่เหมาะสมในการเกลียดเขาว่า "เขาเกลียดเรา"

-ผู้หญิงคนหนึ่งไปมีใจให้กับผู้ชายที่ไม่ใช่แฟน แต่ไม่ยอมรับความรู้สึกตัวเอง (เพราะจิตสำนึกรู้ว่าไม่ควร)

เวลาแฟนพูดถึงผู้หญิงคนอื่น ผู้หญิงเลยแสดงอาการหึงหวงและกล่าวหาว่าแฟนมีใจให้ผู้หญิงคนอื่น

เพื่อกลบเกลื่อนความรู้สึกตัวเอง

-ผู้ชายที่ไม่มั่นใจกับความเป็นชายของตัวเอง และมักจะล้อเพื่อนคนอื่นว่าทำตัวไม่แมน เพื่อจะกลบเกลื่อนความไม่แมนของตัวเอง


4. การไปลงที่สิ่งอื่นแทน (displacement) เป็นกลไกที่สมองพยายามจะลดความเครียดหรือความวิตกกังวลโดยการปลดปล่อยความรู้สึกลบๆกับสิ่งอื่นที่จะไม่เป็นอันตรายกับตัวเอง เช่น

-เราโดนเจ้านายตำหนิมา และกลับบ้านไปทำร้ายหมาเพื่อระบายความเครียด

-เราไม่พอใจสามีที่ไม่ช่วยทำงานบ้าน เมื่อเจอสถานการณ์ที่ลูกงอแงหรือร้องไห้ เราเลยตะโกนและหงุดหงิดใส่ลูกจนเกินเหตุ

-เราทำงานพลาด และโทษคนรอบตัวที่ไม่ช่วยทำให้งานเราสำเร็จเพื่อไม่ให้เรารู้สึกแย่กับตัวเอง

-เราแอบชอบแฟนเพื่อน แต่จิตสำนึกรู้ว่าไม่ควร เลยไปแสดงออกกับสิ่งของอย่างอื่นแทน เช่น ชอบกินสิ่งที่แฟนเพื่อนชอบ เปลี่ยนรสนิยมให้เป็นเหมือนแฟนเพื่อน


5. การทำสิ่งที่สร้างสรรค์ (sublimation) เป็นกลไกการตอบสนองต่อ trauma ด้วยการทำสิ่งที่มีประโยชน์และสร้างสรรค์ต่อตัวเองและสังคม เช่น

-เราอกหักและผิดหวังจากความสัมพันธ์ เราเลยระบายความรู้สึกเหล่านั้นออกมาด้วยการแต่งเพลง

-เราโดนเจ้านายตำหนิมา เลยเลือกที่จะเดินกลับบ้านและใช้เวลาคิดทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น

-เราเป็นคนชอบควบคุมและจัดการสิ่งต่างๆในชีวิต เราเลยสร้างธุรกิจและบริหารคน


รัก, แอม🌻

Comments


bottom of page